เตรียมตัวก่อนไปเมืองฮิกาชิคาวะ

  •  31 ก.ค. 2567

  • ผู้สมัครต้องซื้อตั๋วเครื่องบินไป-กลับด้วยตนเอง โดยออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
  • ผู้สมัครต้องดำเนินการขอวีซ่าและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง สำหรับนักเรียนฮิกาชิคาวะจะได้รับใบสถานภาพการพำนักเพื่อไปทำวีซ่าก่อนเดินทางประมาณ 1 – 2 เดือน
  • เอกสารที่จำเป็นสำหรับการทำวีซ่าสามารถตรวจสอบได้ ดังนี้ คลิกเลย> วิธีการดำเนินการและเตรียมเอกสาร
  • การทำธุรกรรมต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะใช้เอกสารหลัก ๆ คือ Passport ไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารอื่น ๆ จากไทยไป ในกรณีที่มีเป้าหมายในการหางานหรือศึกษาต่อในญี่ปุ่น ต้องนำเอกสารรับรองผลการเรียนและใบรับรองจบการศึกษาฉบับจริง(ภาษาอังกฤษ)ไปด้วย
  • ข้อควรระวัง ผู้สมัครจะต้องเดินทางไปถึงที่เมืองเพื่อดำเนินการย้ายเข้าเมือง(ลงที่อยู่ในบัตรไซริว(在留カード)ที่จะได้ตอนเข้าประเทศญี่ปุ่น)ภายใน 14 วันหลังเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยทางโรงเรียนจะเป็นผู้แทนดำเนินเรื่องให้ในวันปฐมนิเทศ ตามบทกฎหมายว่าด้วยการลงทะเบียนผู้อยู่อาศัยขั้นพื้นฐาน มาตรา 52 ข้อ 2 (住民基本台帳法52条の2)ถ้าทำการยื่นหลังจากช่วงที่กำหนด ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 เยน โดยจะพิจารณาตามแต่กรณี
  • แนะนำให้จองตั๋วเครื่องบินจากสายการบินโดยตรง ไม่ควรจองผ่าน Agency หรือถ้าจะจองควรจองผ่าน Agency ที่ไว้ใจได้ เนื่องจากเวลาเกิดปัญหาอาจจะไม่สามารถขอเงินคืนหรือเลื่อนไฟล์ทเดินทางได้ *ในกรณีเกิดปัญหา ขอให้ผู้สมัครเป็นผู้จัดการด้วยตนเอง*
  • ในช่วงที่สถานการณ์ปกติ

เดินทางจากสนามบินที่ไทย      >    สนามบินชินชิโตเซะ      >      เดินทางไปโรงเรียนโดยรถบัสของโรงเรียน

  • ในช่วงสถานการณ์โควิด

เดินทางจากสนามบินที่ไทย       >     สนามบินฮาเนดะ      >     สนามบินอาซาฮิกาวะ       >   เดินทางไปโรงเรียนโดยรถบัสของโรงเรียน

*ในกรณีไม่สามารถเดินทางไปในวันที่โรงเรียนจะส่งรถมารับได้จะต้องเดินทางไปที่เมืองด้วยตนเอง

ตรวจสอบวิธีเดินทางได้ที่นี่

*ในกรณีต้องการส่งสัมภาระไปที่หอก่อนเดินทางไปถึง จำเป็นต้องแจ้งให้สำนักงานทราบก่อน มิเช่นนั้นทางหอจะไม่รับให้

รายละเอียดเกี่ยวกับบัตรประจำตัวผู้พำนัก(在留カード・บัตรไซริว)

https://www.isa.go.jp/th/publications/materials/newimmiact_4_point.html

การเดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่นหลังได้รับบัตรไซริว (Resident card)

ถ้ามี Resident Card อยู่จะถือว่าได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศอีกครั้ง ดังนั้น หากเดินทางออกประเทศไป แล้วจะกลับเข้าประเทศอีกครั้งภายใน 1 ปี จะสามารถเข้าประเทศได้โดยแสดง Resident Card พร้อมกับหนังสือเดินทางเท่านั้น
หากจะเดินทางออกไปนอกประเทศญี่ปุ่นระยะเวลาเกิน 1 ปี จะต้องไปทำเรื่องขออนุญาตเข้าประเทศอีกครั้งที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและถิ่นที่อยู่
ล่วงหน้าก่อนออกนอกประเทศ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียม 3,000 เยน (Single) หรือ 6,000 เยน (Multiple) จึงจะได้รับซีลอนุญาตเข้าประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งติดที่หนังสือเดินทาง

*กรณีบัตรไซริวยังไม่หมดอายุและยังเรียนไม่จบเท่านั้น

ที่มา: https://www.jpss.jp/th/life/1/1/

 

  • ค่าเทอมและค่าหนังสือเรียนจะมีการเรียกเก็บตอนเปิดภาคเรียน(เมื่อเดินทางไปถึงโรงเรียนที่ญี่ปุ่นแล้ว) โดยจะสามารถจ่ายเป็นเงินสดหรือโอนเงินเข้าบัญชีของโรงเรียน (การโอนผู้สมัครต้องรับผิดชอบเอง)
  • ในวันแรกของการเรียนจะมีให้ทำแบบทดสอบในรูปแบบข้อเขียนและตัวเลือก เพื่อทำการแบ่งห้องเรียนตามระดับของผู้เรียน *สำหรับโรงเรียน 1 ปี อาจจะมีการให้สอบล่วงหน้าก่อนเดินทางไปเรียน*
  • ตำราเรียนที่ใช้เป็นหลัก เช่น Minna no Nihongo, 完全マスター หรือ 日本語パワードリル ส่วนการฟังและคำศัพท์จะใช้เป็นชีทในการเรียน สำหรับสถาบันฮอกโก หนังสือสามารถซื้อได้ที่โรงเรียนหรือร้านหนังสือข้างนอก ส่วนโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นโดยเทศบาลเมืองฮิกาชิคาวะจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายตำราเรียนรวมกับค่าเทอมอยู่แล้ว

 

 

 

 

  • เมื่อเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น จะสามารถยื่นเอกสารขอทำงานพิเศษกับทางรัฐบาลได้ โดยจะมีการปั๊มตราอนุญาตหลังบัตรประจำตัวผู้พำนัก(在留カード)

ตัวอย่างบัตรประจำตัวผู้พำนักหรือไซริวการ์ด

วีซ่าของผู้สมัครที่เป็นวีซ่านักเรียนจะไม่สามารถทำงานประจำได้ตามลูกศรสีม่วง

*อย่างไรก็ตาม เมื่อยื่นใบ資格外活動許可申請書(เอกสารคำร้องขอทำงานพิเศษ)ให้กับเจ้าหน้าที่ตม.ตอนเข้าประเทศญี่ปุ่นแล้วจะได้ตราประทับตามลูกศรสีเขียวและทำงานได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมง/สัปดาห์ ขอให้ตรวจสอบด้วย

資格外活動許可申請書(เอกสารคำร้องขอทำงานพิเศษ) ดาวน์โหลดจากที่นี่

 

  • หลังจากได้ตราประทับด้านบนแล้วจะยังไม่สามารถทำงานพิเศษได้ทันที แต่จะสามารถทำได้หลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากทางโรงเรียนแล้วเท่านั้น โดยทำได้ไม่เกิน 28 ชม./ สัปดาห์
  • ห้ามทำงานที่เป็นธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจสถานบันเทิงต่าง ๆ เช่น ร้านปาจิงโกะ บาร์เหล้า เป็นต้น
  • ค่าแรงขั้นต่ำ 890 เยน / ชม. (ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน) บางที่อาจมีค่าเดินทางให้ด้วย
  • ไม่อนุญาตให้ไปสัมภาษณ์งานไว้ก่อนล่วงหน้า
  • งานส่วนใหญ่หาได้จากการแนะนำของรุ่นพี่หรือใบประกาศรับสมัคร หากสมัครเองสามารถติดต่อทางร้านแล้วส่งเรซูเม่ด้วยตนเอง หลังจากนั้นรอเรียกสัมภาษณ์ โดยเรซูเม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านในเมืองหรือทำไว้ก่อนและไปปริ้นต์ที่ร้านสะดวกซื้อหรือตรวจสอบงานที่อยู่ใกล้เมืองจากเว็บนี้ https://higashikawa-workevent.com/?fbclid=IwAR2vl2dG0YOMmOU_tKWABCIoJWhHYJjTpzrcXLHEU1OT0oYZkV3_Fhm6ZTo
  • ควรคำนวณเวลาในการทำงานให้ดี หากทำเกินชั่วโมงที่กำหนดอาจมีผลต่อการทำงานที่ญี่ปุ่นในอนาคต และควรเก็บสลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการได้รับเงินเอาไว้ด้วย เนื่องจากอาจจะต้องส่งสลิปหรือหลักฐานการรับเงินค่าจ้างเมื่อมีการร้องขอ (ปกติวีซ่านักเรียนจะได้รับการยกเว้นภาษี)
  • การจ่ายค่าจ้างจะแตกต่างกันไปในแต่ละร้าน บางร้านจ่ายเงินสด หรือบางร้านโอนให้ อาจจะต้องไปเปิดบัญชีที่ญี่ปุ่นเพิ่มเติม*การเปิดบัญชีทำได้ด้วยการนำPassportกับบัตรไซริว(ได้เมื่อเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น) ไปยังธนาคารหรือไปรษณีย์ประจำประเทศญี่ปุ่น(ゆうちょ) บางธนาคารอาจจะกำหนดให้ทำตราประทับด้วย สามารถไปทำตราประทับที่เมืองฮิกาชิคาวะได้

 

 

  • ในช่วงแรกควรเตรียมเงินสดไปประมาณ 1  แสนเยน (ไม่รวมค่าเรียนและอื่นๆ) *ไม่แนะนำให้พกเงินสดไปเยอะกรณีกลัวทำหายระหว่างเดินทาง ไว้ไปกดเงินที่ญี่ปุ่นแทนจะปลอดภัยกว่า
  • แนะนำให้ทำบัตร ATM บัตรTravel cardและบัตรเครดิตที่เป็นชื่อของตัวเอง (เช่น บัตร VISA, JCB เนื่องจากสามารถใช้ได้หลากหลายในญี่ปุ่น) เพื่อความสะดวกในการใช้จ่าย เช่น การชำระโดยตัดบัตรเครดิต เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวอาจจะไม่สะดวกในการไปชำระตามร้านสะดวกซื้อที่อยู่ไกล หรือความสะดวกในการเลือกซื้อเบอร์โทรศัพท์ในญี่ปุ่น ถ้าเลือกเป็นตัดผ่านบัตรเครดิตจะมีให้เลือกหลากหลายกว่า(ชื่อบัตรต้องตรงกับชื่อผู้ใช้)
  • ค่าหอจะต้องจ่ายเป็นเงินสดเท่านั้น โดยจ่ายเป็นรายเดือน โดยจะมีการเรียกเก็บจากผู้ดูแลหอเมื่อไปถึงในทุกเดือน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรนำเงินใส่ไว้ในธนาคาร
  • สามารถกดเงินโดยใช้บัตร ATM ของไทยได้ที่ตู้กดเงินตามร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11 Lawson ไปรษณีย์และธนาคารต่าง ๆ (ค่าธรรมเนียมและเงินขั้นต่ำและสูงสุดในการถอนเงินจะแตกต่างกันไป ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 220 เยน/ ครั้ง)
  • บัตรแทนเงินสด HUC จะมีเงินเข้าทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน แบ่งเติมเงินให้ครั้งละ 4,000 เยน (เดือนละ 8,000 เยน)
  • เวลาซื้อของออนไลน์หรือใช้บัตรเครดิตอาจจะต้องมีการยืนยันตัวตนโดยใช้เลข OTP แนะนำให้ใส่เป็นเบอร์มือถือที่สะดวกต่อการรับเลข OTP เช่น เบอร์ของคนในครอบครัว หรือคนรู้จักในเมืองไทย เนื่องจากถ้าไม่ได้ใช้บริการพิเศษที่จะทำให้รับ SMS หรือโทรศัพท์ในต่างประเทศได้ จะไม่สามารถใช้เครือข่ายมือถือในไทยที่ญี่ปุ่นได้

*รายละเอียดเกี่ยวกับการรับSMSหรือโทรศัพท์ในต่างประเทศขอให้ตรวจสอบกับทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของตนเอง

  • การเปิดบัญชีของญี่ปุ่นทำได้ด้วยการนำPassportกับบัตรไซริว(ได้เมื่อเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น) ไปยังธนาคารหรือไปรษณีย์ประจำประเทศญี่ปุ่น(ゆうちょ) บางธนาคารอาจจะกำหนดให้ทำตราประทับด้วย สามารถไปทำตราประทับที่เมืองฮิกาชิคาวะได้
  • สำหรับการใช้ Mobile Banking แนะนำให้ตรวจสอบเงื่อนไขการใช้งานของแอพให้ละเอียดก่อนที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น เนื่องจากบางธนาคารจะมีข้อจำกัดในการทำธุรกรรมที่ต่างประเทศ เช่น ไม่สามารถโอนเงินให้กับคนอื่นได้ถ้าไม่ใช้เบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้
  • การชำระค่าเทอมของโรงเรียนสามารถไปจ่ายด้วยเงินสดที่โรงเรียนโดยตรงหลังจากเปิดเทอมได้เลย (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะมีการแจ้งให้ทราบเมื่อเดินทางไปถึงที่เมือง)
  • วิธีการใช้ATMในญี่ปุ่น ตรวจสอบที่นี่

  1. รถบัส
  • มีทั้งหมด 4 สาย : 60, 76, 67 และ 176 โดยเดินทางจากฮิกาชิคาวะ ถึง สถานีรถไฟในอาซาฮิกาวะ
  • มีเที่ยวเดินทางน้อยและห่างกันในแต่ละรอบ ควรวางแผนการเดินทางดี ๆ โดยรอบสุดท้ายคือ 4 ทุ่ม
  • การชำระค่าโดยสารทำได้โดย 1. จ่ายเงินสด หรือ 2. ใช้บัตรโดยสารรถบัส
  • บัตรโดยสารรถบัสสามารถทำได้ที่สถานีรถไฟในอาซาฮิกาวะ โดยมีทั้งบัตรโดยสารแบบธรรมดาและแบบเหมาจ่าย
  • การเติมเงินเข้าบัตรโดยสารทำได้โดยเติมที่ตู้หรือแจ้งกับคนขับรถว่าจะเติมแล้วชำระด้วยเงินสด

ข้อมูลเกี่ยวกับรถบัสในเมืองศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.asahikawa-denkikidou.jp/asahidaek_line/

  1. แท็กซี่ (รถขนาดเล็กโดยสารได้สูงสุด 3 คน)

  1. จักรยาน
  • ที่หอจะมีจักรยานให้ยืม โดยจะให้ยืมช่วงที่หิมะเริ่มละลายและเรียกเก็บคืนในช่วงที่หิมะเริ่มตก เนื่องจากหิมะจะทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้จักรยานและอาจเกิดอุบัติเหตุได้
  • จักรยานที่ยืมให้นำมาคืนที่เดิมทุกครั้ง เนื่องจากมีจำนวนจำกัด ต้องแบ่งกันใช้
  • หากจักรยานที่ยืมไปเกิดความเสียหาย ต้องรับผิดชอบโดยนำไปซ่อมและออกค่าซ่อมเอง
  • ห้ามซ้อนจักรยาน 2 คน เนื่องจากผิดกฎหมายญี่ปุ่น

  1. รถส่วนตัว
  • การเช่ารถจะต้องใช้ใบขับขี่สากลและ Passport
  • หากไม่มีใบขับขี่ของญี่ปุ่นสามารถทำการสอบได้แต่จะต้องมีใบขับขี่ของไทยที่ใช้มามากกว่า 3 เดือน หรือถ้าไม่มีใบขับขี่ของไทยมาก่อนก็สามารถทำใหม่ได้เช่นกันแต่จะเสียค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง จึงแนะนำว่าควรทำใบขับขี่สากลก่อนที่จะเดินทางมาเพื่อความสะดวกในการใช้รถ

 

  • เสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาว (อุณหภูมิอาจจะลดต่ำลงถึงประมาณ -1 ถึง –19 องศา) แนะนำให้ใส่เสื้อผ้าอย่างน้อย 4 ชั้น
  1. ฮีทเทคที่ด้านใน
  2. เสื้อคอเต่า
  3. เสื้อไหมพรมหรือสเวตเตอร์
  4. เสื้อโค้ทกันหนาว แนะนำให้เลือกแบบมีฮู้ด ผ้าบุนวมหนา ๆ กันน้ำและยาวถึงเข่าเพื่อกันความหนาว

**ประเทศญี่ปุ่นมีร้านขายเสื้อผ้ามือสองหลายแห่ง โดยของต่าง ๆ สภาพค่อนข้างดีมีคุณภาพ ราคาไม่แพง สามารถเลือกซื้อได้สะดวก

  • ชุดสุภาพสำหรับร่วมพิธีหรือใช้ในการทำงาน รวมถึงการหางาน เช่น ชุดสูทสีดำ เสื้อเชิ้ตสีขาวและรองเท้าคัทชู
  • ถ้ามีชุดไทยสามารถนำไปด้วย เผื่อในกรณีมีกิจกรรมหรืองานในเมืองเกี่ยวกับไทย เช่นเทศกาลลอยกระทง วันสงกรานต์
  • รองเท้า ควรเตรียมรองเท้าผ้าใบ(สำหรับใส่ในอาคาร) และslipper มาเพื่อใส่เดินในหอและรองเท้าข้อสูง กันน้ำที่มีพื้นรองเท้าสำหรับใส่เดินบนหิมะมาด้วย หากไม่มีสามารถหาซื้อได้ที่ญี่ปุ่น
  • แว่นหรือคอนแทคเลนส์ ควรมีสำรองและเตรียมไปจำนวนครอบคลุมสำหรับช่วงเวลาที่จะอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น เพราะการทำอันใหม่ที่ญี่ปุ่นเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากและต้องมีใบรับรองจากแพทย์
  • Adapter สำหรับใช้งานที่ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นใช้กระแสไฟฟ้า 100 โวลต์ เต้าเสียบส่วนใหญ่เป็นแบบ 2 ขา แบบแบน)
  • ที่หอมีหมอนและผ้าห่มให้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพกเครื่องนอนต่าง ๆ ไป
  • แนะนำให้พกช้อนส้อม กล่องข้าวสำหรับเข้าไมโครเวฟได้และไม้แขวนเสื้อไปด้วย(หรือจะไปซื้อเพิ่มเติมที่ญี่ปุ่นก็ได้)
  • เครื่องปรุงรสของไทย อาหารสำเร็จรูปของไทย หรืออะไรไทย ๆ เผื่อให้เป็นของฝากเพื่อนชาวต่างชาติหรือรับประทานเอง
  • ไม่ควรพกเงินสดเยอะเกินไป โดยอาจจะแลกเงินเยนประมาณ 100,000 เยน และเงินไทย 1,000 บาท ส่วนเงินอื่น ๆ ใส่ในธนาคารและไปถอนออกที่ญี่ปุ่นผ่านบัตรเดบิต หรือให้ครอบครัวที่อยู่ที่ไทยโอนเงินไปให้ผ่านธนาคารญี่ปุ่น
  • ห้ามพกของมีคมขึ้นเครื่องบิน รวมถึงกรรไกรตัดเล็บ(ในกรณีต้องการพกไปต้องใส่ในกระเป๋าเดินทางที่โหลดเท่านั้น)ด้วย
  • ไม่สามารถนำแบตเตอรี่สำรองทุกชนิดใส่กระเป๋าที่นำไปเช็คอิน แต่สามารถพกพาใส่กระเป๋าถือขึ้นเครื่องไปได้ โดยต้องเป็นแบตเตอรี่สำรองที่มีค่าความจุไฟฟ้าไม่เกิน 32,000 mAh และไม่เกิน 2 ชิ้น

  • นักเรียนทุนฮิกาชิคาวะจะต้องมีโทรศัพท์มือถือ(เบอร์โทรศัพท์)ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์ในประเทศญี่ปุ่นและสามารถติดต่อสื่อสารได้ภายในประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดต่อเรื่องราวต่าง ๆ กับทางโรงเรียนในคราวจำเป็น โดยกำหนดวันเปิดใช้ซิมอย่างช้าไว้ที่ 20 วันหลังเข้าเรียน (สามารถทำสัญญาเข้าเครือข่ายก่อนเข้าเรียนได้)
  • ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่ไปทำสัญญาไว้ให้กับทางโรงเรียนและสามารถตอบรับการติดต่อจากทางโรงเรียนผ่านการพูดคุยได้ทันที (ไม่สามารถใช้ไลน์/สไกป์ติดต่อแทน)
  • ในกรณีที่นำโทรศัพท์มือถือมาจากประเทศของตน ก็สามารถซื้อเพียงแค่SIM Cardได้ โดยจะต้องเป็นโทรศัพท์ที่เป็นระบบSIM Free(ระบบรองรับSIMของทุกประเทศได้) หากไม่ได้นำโทรศัพท์มือถือมาหรือเครื่องไม่รองรับ SIM ของทุกประเทศ จำเป็นจะต้องซื้อเครื่องโทรศัพท์ หรือ SIM หรือทั้งสองอย่าง โดยขอแนะนำให้ซื้อทั้งสองอย่างพร้อมกัน
  • ในการทำสัญญาเบอร์โทรศัพท์มือถือจะต้องใช้ไซริวการ์ดที่มีการลงทะเบียนที่อยู่แล้ว (โรงเรียนเป็นผู้ลงทะเบียนที่อยู่ให้ภายใน 1 สัปดาห์หลังเปิดเทอม) ช่วงไปถึงแรก ๆ จึงจะยังไม่สามารถทำสัญญาได้ แนะนำให้ซื้อซิมเน็ตจากประเทศไทยไปก่อน โดยกะเวลาไว้ที่ 7-14 วัน นับจากวันไปถึงญี่ปุ่น

*เมื่อซื้อโทรศัพท์ที่ประเทศญี่ปุ่น ควรสอบถามกับพนักงานขายว่าเป็นระบบ SIM Freeหรือไม่เนื่องจากโทรศัพท์ในญี่ปุ่นจะมีการล็อกSIMให้ใช้ได้แค่ซิมของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น (กลับกันโทรศัพท์ในประเทศไทยจะเป็นแบบSIM Freeเกือบ 100% เพื่อความมั่นใจ แนะนำให้สอบถามกับพนักงานขายว่าสามารถใช้ซิมของประเทศอื่นได้หรือไม่อีกครั้งก่อนซื้อโทรศัพท์)

 

  • ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ไทลินอล พารา ยาแก้เมายานพาหนะ ยาแก้แพ้

ยาที่ประเทศญี่ปุ่นจะไม่เหมือนยาที่ประเทศไทย ฤทธิ์จะไม่ค่อยแรง ทานแล้วอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าไรนัก

  • ยาโรคประจำตัว

กรุณาขอใบรับรองแพทย์สำหรับการรับรองการใช้ยาตัวนั้นๆ สำหรับการรักษา เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับยื่นผ่านที่ตม. หรือเพื่อเข้ารักษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ในกรณีนำยาไปในปริมาณมาก จำเป็นจะต้องยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใบรับรอง

รายละเอียดเพิ่มเติม :https://www.mhlw.go.jp/english/policy/health-medical/pharmaceuticals/01.html

**ข้อควรระวัง**

1.ยารักษาที่มีใบสั่งแพทย์ต้องนำใบสั่งแพทย์นั้นติดตัวไปด้วย

2.ยาต้องอยู่ในแผงยา หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อแสดงรายละเอียดของยาแก่เจ้าหน้าที่

3.จำนวนของยาจำเป็นที่ติดตัวได้ต้องใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน ถ้าเกินต้องมีใบรับรองแพทย์

4.กลุ่มยาต้องห้าม ที่เป็นกลุ่มเดียวกับยาเสพติด (มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือ ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง) เช่น โคเดอีน (Codeine) มอร์ฟีน เมทาโดน อันเป็นยาที่แพทย์จ่ายภายใต้การควบคุมอยู่ ต้องขออนุญาตนำออกจากประเทศไทยและทั้งมีใบสั่งแพทย์ถูกต้อง

5.ยากลุ่มยานอนหลับเช่น Diazepam, Lorazepam และกลุ่มยารักษาโรคเครียดเช่น Fluoxetine เป็นกลุ่มยาที่ควรระวังในการพกพา

*เอกสารต่าง ๆ ควรเป็นภาษาอังกฤษหรือญี่ปุ่น

ยาญี่ปุ่นที่สามารถซื้อได้ในประเทศญี่ปุ่น

  1. BAND-AID kizu powerpad : พลาสเตอร์กันน้ำ
  2. PAIR ペアアクネクリーム: แต้มสิวยุบ
  3. Nazal ナザール「スプレー」: สเปรย์แก้คัดจมูก
  4. SKIN VAPE : ไล่แมลงกวนใจ
  5. Shin Biofermin S : แก้ท้องผูก
  6. Ninocure : แก้หนังไก่
  7. Ohta Isan : สบายท้องมั่นใจด้วยสนุนไพรคุณภาพ
  8. Stoppa EX Antidiarrheal : แก้ท้องร่วงอาหารเป็นพิษ
  9. Oronine H Ointment : ทาแผลเล็กใหญ่
  10. Ryukakuchi direct stick : แก้ปัญหาเจ็บคอ

หมายเหตุ ยาแต่ละชนิดจะมีข้อควรระวัง กรุณาศึกษาหรืออ่านฉลากยาก่อน

  • ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ เนื้อสัตว์สดหรือแช่แข็ง นม ไข่
  • เมล็ดพืช ดอกไม้ ผลไม้ต่าง ๆ ขนสัตว์ ฯลฯ

 

** ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ : https://www.bababoboinjapan.com/2019/07/03/cannot-bring-into-japan/                                                                      https://www.maff.go.jp/aqs/languages/export_meat_th.html

 

  • ทองคำเกิน 1 kg. (หากนำไปต้องชี้แจงอย่างละเอียด)
  • บุหรี่ ยาสูบต่าง ๆ
  • แมลงที่ยังมีชีวิต
  • เงินสดที่เกิน 1 ล้านเยน (หากนำไปต้องชี้แจงอย่างละเอียด)
  • ยาบางชนิดไม่สามารถนำเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1 ยาซึ่งมีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)

ยาในกลุ่มช่วยบรรเทาหวัด แก้แพ้ ลดน้ำมูก แก้ปวดไซนัส จำนวน 7 ชนิด คือ

  1. TYLENOL COLD
  2. ACTIFED
  3. SUDAFED
  4. ADVIL COLD & SINUS
  5. DRISTAN COLD/ “NO DROWSINESS”
  6. DRISTAN SINUS
  7. DRIXORAL SINUS

กลุ่มที่ 2 ยาแก้หวัดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย จำนวน 3 ชนิด คือ

  1. NYQUIL
  2. NYQUIL LIQUICAPS
  3. VICKS INHALER

กลุ่มที่ 3 กลุ่มยาแก้ท้องเสียที่มีสาร คือสารไดเฟนอกไซเลต (Diphenoxylate) จำนวน 1 ชนิด คือ

  1. LOMOTIL

ผู้ที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นจะต้องทำประกันสุขภาพแห่งชาติทุกคน-国民健康保険 (สมัครเมื่อทำการย้ายเข้าเมืองภายใน 14 วัน)
โดยจะเป็นระบบชำระค่าใช้จ่ายเพียง 30%จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด อีก 70%รัฐบาลจะเป็นรับผิดชอบให้ เมื่อเข้ารักษาพยาบาล
และจะมีการเรียกเก็บเงินโดยตรงกับผู้อยู่อาศัย ตกอยู่ที่ประมาณ 21,300 เยน/ปี และสามารถแบ่งจ่ายได้ 7 ครั้ง โดยไปชำระเงินได้หลายที่ เช่น ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ *หากรู้สึกว่าถูกเรียกเก็บเกินกว่าที่ควร ขอให้ลองปรึกษากับทางโรงเรียนก่อนชำระเงิน*
รายละเอียดเพิ่มเติม https://matcha-jp.com/th/9871
ถ้าต้องการสมัครประกันไปเพิ่มสามารถทำได้ แต่ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้หาข้อมูลและสมัครด้วยตนเอง